หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ของเล่น...เล่นเพื่อพัฒนาเด็กพิเศษ

เด็กพิเศษ...สำคัญที่วิธีเล่น


คุณครูสุขจันทร์ สุขประกอบ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมพัฒนาการสำหรับเด็กที่ต้องการช่วยเหลือพิเศษโรงเรียนจิตตเมตต์ (ปฐมวัย) และโรงเรียนเพลินพัฒนาบอกว่า แม้ของเล่นของเด็กปกติกับเด็กพิเศษจะเหมือนๆกัน แต่ต่างกันตรงที่ "วิธีการเล่น" ค่ะ ซึ่งเด็กพิเศษแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการในการเล่นต่างกัน และความถนัดไม่เหมือนกัน เราจึงต้องดูว่าเด็กพิเศษคนนั้นๆ สนใจอะไร และต้องการความช่วยเหลืออย่างไร

ดังนั้นถ้าจะเลือกของเล่นให้เด็กกลุ่มนี้ ควรเลือกให้ตรงตามความถนัด และความสนใจของเขาเป็นหลัก เช่น เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกาย การใช้มือไม่แข็งแรง การประสานสัมพันธ์ของมือและตา และการเคลื่อนไหวไม่สะดวก จึงควรพิจารณาเลือกใช้ของเล่นที่ใช้วัสดุและขนาดที่ไม่หลุดมือได้ง่าย
เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านสติปัญญาในระดับหนัก ไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบตัว อาจจะชอบหรือสนใจเสียงดนตรี จึงควรเลือกใช้กล่องเพลง หรือของเล่นที่มีเสียงกระตุ้นเร้าความสนใจให้เด็กมีการตอบสนอง ส่วนเด็กที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นก็ต้องการของเล่นที่มีเสียงเช่นเดียวกัน

ครูสุขจันทร์เล่าว่า ของเล่นสำหรับเด็กพิเศษสามารถเป็นของเล่นที่เราประดิษฐ์ขึ้นเองก็ได้ หรือของเล่นตามธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ดิน ทราย ใบไม้ หรือของเล่นที่ซื้อหาได้ตามท้องตลาด ทั้งนี้อาศัยแค่เพียงความเข้าใจและใช้เทคนิควิธีการสอน ด้วยการใช้ของเล่นเป็นสื่อการสอนสำหรับเด็กพิเศษแต่ละคนให้เหมาะสมเท่านั้น

"สมมติว่าเด็กคนหนึ่งกล้ามเนื้อมือเขาไม่ค่อยแข็งแรง ตรงนี้เราต้องมาดูว่าของเล่นอะไรบ้างที่จะช่วยฝึกเรื่องกล้ามเนื้อมือให้เขา พอคิดขึ้นได้ว่ามีพวกดินเหนียว แป้งโดว์ ทราย ฯลฯ เราก็มานึกต่อว่าแล้วจะทำอย่างไรให้เด็กคนนั้นเกิดการเรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ดังนั้นเราอาจจะเอาของเล่น เช่น เรือลำเล็กๆ ของเล่นที่เป็นไม้ หรือพลาสติกมาลอยน้ำแล้วให้เขาลองหยิบของเล่นที่ลอยน้ำนั้นขึ้นมาดู เขาจะรู้สึกสนุกที่จะเรียนรู้ และจะได้รับการฝึกเรื่องกล้ามเนื้อมือไปด้วยในตัว
นอกจากจะนำของเล่นมาลอยน้ำแล้ว เรายังสามารถนำของเล่นชิ้นดังกล่าวไปลองใส่ลงในทราย หรือข้าวสารที่ใส่อยู่ในกะละมัง ต่อจากนั้นให้เด็กใช้มือควานหาของเล่น เขาจะรู้สึกสนุกที่จะหา เกิดการเรียนรู้เรื่องผิวสัมผัส และยังได้ฝึกกล้ามเนื้อมือไปด้วยในตัว ฉะนั้นของเล่นจะเป็นอะไรก็ได้ขอเพียงแต่เราต้องรู้เสียก่อนว่าเขามีความบกพร่องในด้านใด แล้วเราต้องการพัฒนาทักษะด้านใด และที่สำคัญจะต้องให้เขาเรียนรู้อย่างมีความสุข"

เด็กที่มีพัฒนาการเป็นปกติ เมื่อเห็นของเล่นก็จะหยิบมาเล่นอย่างมีจินตนาการ หรือเล่นบทบาทสมมติได้ตามวัย แต่สำหรับเด็กออทิสติกนั้นมีความผิดปกติทางพัฒนาการในด้านสังคม ภาษา และการสื่อสาร มีความผิดปกติทางด้านการเล่น และจินตนาการ เช่น ไม่มีจินตนาการในการเล่น เล่นสมมติไม่เป็น ไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องสมมติ ชอบเล่นคนเดียว ไม่ชอบเข้ากลุ่ม เขาอาจจะเล่นของเล่นที่แตกต่างไปจากเด็กอื่นๆ เช่น หยิบของเล่นมาส่องดู จ้องมองนานๆ หยิบของเล่นหมุนไปหมุนมา ครูจึงต้องชักชวนหรือสอนให้เล่นของเล่นเป็น

ส่วนเด็กที่มีสมาธิสั้นก็อาจจะเล่นของเล่นแต่ละอย่างได้ไม่นาน วิ่งไปหยิบจับสิ่งของต่างๆรอบตัวตลอดเวลาจึงไม่สามารถเล่น หรือทำงานชิ้นใดชิ้นหนึ่งให้สำเร็จได้ ดังนั้นการนำของเล่นอย่างการร้อยลูกปัด การต่อจิ๊กซอว์ การปั้นดิน การเล่นทราย เล่นน้ำ ฯลฯ จะช่วยฝึกเรื่องสมาธิให้เขาได้ เขาจะเริ่มจดจ่ออยู่กับของเล่นที่ชอบและสนใจได้นานมากขึ้น และเมื่อเขาทำได้สำเร็จ อย่าลืมให้คำชมเชยหรือการกอด เพื่อจะช่วยเป็นกำลังใจและรางวัลที่ดีให้เขาได้ทางหนึ่ง
"จากประสบการณ์การสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญา ตั้งแต่เล็กจนถึงปัจจุบันได้ใช้ของเล่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของเล่นที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ของเล่นจากธรรมชาติ หรือของเล่นที่ซื้อหาได้ตามท้องตลาด เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนในการฟื้นฟูสมรรถภาพและส่งเสริมพัฒนาการ ขณะนี้เขาสามารถวาดรูปได้สวยมาก อ่านออกเขียนได้ และพูดสื่อสารได้

มิติของของเล่นชิ้นหนึ่งๆ มิได้มีเพียงจุดประสงค์เดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ไม้บล็อก เราสามารถนำมาเล่นเพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือ หรือฝึกเรื่องสี เรื่องขนาด และจำนวนก็ได้ สมมติว่าลูกของเราสนใจที่จะต่อไม้บล็อก เราสามารถชักชวนให้ต่อไม้บล็อกเป็นรูปทรงต่างๆ ซึ่งอาจจะชวนให้วาดรูปไม้บล็อกที่ต่อแล้วนั้น หรือเอาไม้บล็อกมาสอนเรื่องสี ขนาด รูปทรง หรือถ้วยเรียงลำดับขนาดต่างๆ ดังนั้นเราสามารถให้ลูก ตัก ตวง เทข้าวสาร น้ำ ทราย หรือจับคู่สี ขนาดของถ้วยน้ำ ซึ่งการเล่นที่หลากหลายแบบนี้เป็นการขยายความคิด ให้ลูกมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นด้วย"

PLAY THERAPY


Play Therapy หรือการบำบัดจิตด้วยการเล่น ถือเป็นการรับรู้ความในใจของเด็กผ่านการที่ให้เขาได้เล่น ซึ่งเด็กทุกคนที่มีเรื่องราวค้างคาในใจโดยเฉพาะเรื่องขุ่นข้องหมองใจ เช่น รู้สึกถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้ายทางร่างกายมา ฯลฯ ทั้งหมดจะเปิดเผยออกมาขณะที่เขากำลังเล่นอยู่
ถ้าเราไปถามว่าลูกรู้สึกคับข้องใจอะไร บางครั้งเด็กในวัยเล็กๆ จะไม่สามารถอธิบายความกังวลนี้ออกมาเป็นคำพูดได้เหมือนผู้ใหญ่ ผศ.พญ.สุวรรณี พุทธิศรี จิตแพทย์เด็กประจำรพ.รามาธิบดี ให้คำแนะนำว่า การปล่อยให้เด็กได้เล่น เช่น วาดรูป หรือเล่นตุ๊กตา หรือเล่นของเล่นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการใช้จินตนาการ เช่น หุ่นมือ บ้านตุ๊กตา บทบาทสมมติ กะบะทราย ฯลฯ จะช่วยบอกความในใจได้ว่าตอนนี้เขารู้สึกอะไรอยู่

* ด้านร่างกาย การที่ลูกได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน ได้กระโดดโลดเต้น หรือปีนป่ายต้นไม้ กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยเรื่องกล้ามเนื้อขาให้แข็งแรงและช่วยเรื่องการทรงตัว นอกจากนั้นยังช่วยเรื่องการทำงานประสานกัน ระหว่างกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ด้วย เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา มือ และการประสานการทำงานระหว่างมือและตา เช่น ปั้นแป้งโดว์ พับกระดาษ เพ้นท์สี เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น